กระดุมเม็ดแรก
หลายคนคงเคยได้ยินคำพูดที่ว่า "ถ้าเราติดกระดุมเม็ดแรกผิด กระดุมเม็ดต่อๆไปก็ผิดหมด" เพื่อให้เห็นความสำคัญของการเริ่มต้นให้ดี เลี่ยงผลกระทบไม่ให้เกิดความเสียหายตามมา เป็นสำนวนที่มาจากนักจิตวิทยาชาวอิตาเลี่ยนชื่อ Giordano Bruno "If the first button of one's coat is wrongly buttoned, all the rest will be crooked. " คิดว่าทุกคนก็คงเข้าใจดี ถึงแม้จะเป็นคำโวหารเชิงเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นภาพในชัดเจน ในความคิดผมยังมีให้คิดต่ออีก เพราะเชื่อว่า หากการเริ่มต้นที่จะทำอะไร ต้องมีการวางแผน นั่นคือ การเตรียมข้อมูล วิธีการ ทรัพยากร จนถึงช่วงเวลา และการควบคุม...... ซึ่งการวางแผนที่ดี มีผลต่อการเริ่มต้นลงมือทำที่ถูกต้อง การกลัดกระดุมเม็ดแรกที่ว่าสำคัญ แต่การเตรียมรังดุมให้มีตำแหน่งที่ตรงกันกับเม็ดกระดุมที่เข้ากัน ย่อมมีความสำคัญมากกว่า หรือพอๆกับการลงมือติดกระดุมเม็ดแรก และอยากบอกว่า ถึงแม้ติดกระดุมเม็ดแรกผิดไป หากเรายังมีสติ ทบทวน เราก็สามารถปรับแก้ได้ สามารถปลดออกและกลัดใหม่ได้ ไม่ใช้เริ่มต้นทำผิดแล้ว ต้องทำผิดตลอดไป
เคยทำหน้าที่เป็นผู้จัดการโครงการ (Project Manager) ได้เข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง ก่อนจะเริ่มโครงการตามแผนการปฏิบัติ(Action Plan) ที่กำหนดภายใต้แผนงานหลักของโครงการ(Master Plan) ต้องวางแผนจัดเตรียมทุกสิ่งให้สอดคล้องกัน ทั้งเรื่องคน งาน เวลา งบประมาณ...เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น ให้มีปัญหาอุปสรรคน้อยที่สุด ให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดขึ้น ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนถึงสิ้นสุดโครงการ และหากเกิดความผิดพลาดเกิดขึ้นในของแต่ละงาน(Task) ในแผน เช่น ลืมใส่งาน ใส่คน ใส่เงิน กำหนดเวลาไม่สอดคล้อง .....ปัญหาย่อมเกิดตามมาให้แก้ ซึ่งต้องเหนื่อยใจและอาจทำให้แผนนั้นล้มเหลวลงได้ หรือในการพัฒนาระบบงาน ซึ่งต้องมีกระบวนการที่ครอบคลุมขั้นตอนในการพัฒนาซอฟต์แวร์ ตั้งแต่การวางแผน การออกแบบ การพัฒนา การทดสอบ การปรับปรุง จนถึงการนำลงใช้ และการบำรุงรักษา หรือเรียกว่า Software Development Life Cycle (SDLC) หากมีการออกแบบที่ไม่ดีตั้งแต่แรก เช่น รวบรวมความต้องการใช้ระบบจากผู้ใช้งาน ที่ไม่คลอบคลุม หรือขาดตกบกพร่องตั้งแต่แรก จะส่งผลต่อการกำหนดสเปค หรือจัดทำข้อกำหนดความต้องการใช้ระบบ ให้ไม่ตรงตามความต้องการที่แท้จริง เมื่อทีมผู้พัฒนาระบบได้จัดทำการพัฒนาระบบให้เสร็จสิ้น และร่วมกันทดสอบให้ตรงตามสเปคที่ส่งให้แล้ว หากเจอปัญหาว่าระบบที่พัฒนา ไม่ตรงตามที่อยากได้ หรือไม่ครอบคลุมการทำงานของผู้ใช้ ต้องเสียเวลาปรับแก้ ซึ่งทำให้ต้องเสียเวลา เสียคน เสียเงิน และเลวร้ายสุดคือการนำลงใช้งานจริงกับลูกค้ายิ่งสร้างปัญหาได้มากกว่าอีก (เรือหาย) เพราะความผิดพลาดตั้งแต่เริ่มต้นที่ไม่ดี หากยอมเสียเวลาตั้งแต่แรกทำให้ถูกต้องก่อน จะได้ไม่ต้องมาเสียเวลา(มากกว่า)ภายหลังเพื่อแก้ไข แบบนี้ก็เข้าข่าย "ติดกระดุมเม็ดแรกผิด กระดุมเม็ดต่อๆไปก็ติดผิดหมด"
โวหารเรื่องติดกระดุมนี้ น่าจะเอามาใช้ในเรื่อง "สติ" น่าจะตรงกว่า หลายคนก็คง งง ว่ามันเกี่ยวอะไรกับสติ ในความเป็นจริง เวลาเรากลัดเม็ดกระดุมที่เสื้อ เริ่มหลังจากใส่เสื้อแล้ว ส่วนใหญ่มักจะใช้สองมือลูบ คลำหา เพื่อให้รู้ว่ารังกระดุมและเม็ดกระดุมอยู่ไหน ซึ่งในความคิดคือ ตำแหน่งบนสุด (ใต้ปกเสื้อ) บางทีใช้กระจกช่วย บางทีแทบจะไม่มองด้วยซ้ำ เป็นการทำงานของร่างกายอย่างเป็นอัตโนมัติ ตามความเคยชิน คือต้องมีสติ เพื่อรู้สึก รู้ตัวในการจัดการ เพื่อไม่ให้ติดผิดตำแหน่งตั้งแต่แรก และเมื่อติดกระดุมเม็ดแรกผิดแล้ว ก็จะมีผลต่อการติดเม็ดที่สอง สาม สี่......หากมีสติรู้ว่าติดผิดตั้งแต่แรกแล้ว แก้ไข ก็ดี แต่หากยังติดกระดุมเม็ดต่อไป โดยไม่รู้ว่าติดเม็ดแรกผิดไปแล้ว ก็ทำให้ผิดหมดทั้งแถว ต้องเสียเวลาแกะแล้ว ติดใหม่อีกครั้ง มันก็ไม่ต่างกับการใช้ชีวิต ถ้ามีความเชื่อ มีความคิด ตั้งต้นมาผิดๆ การใช้ชีวิตก็จะไม่ปกติ ก็จะผิดเพี้ยนไปด้วย เราอาจผิดพลาดได้ แต่มันก็ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต แค่มีสติรู้ตัว เข้าใจ และยอมรับที่จะเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนการกระทำ เปลี่ยนวิธีการ เพื่อเริ่มต้นใหม่กับการใช้ชีวิตที่ถูกต้อง แต่ในความเป็นจริง มีหลายคนที่ใช้ชีวิตอย่างไม่รู้สึก ไม่รู้ตัว ว่ากำลังทำผิด และคงต้องทำผิดต่อไปทั้งชีวิต เพราะความไม่รู้ว่า กลัดกระดุมเม็ดแรกมาผิด ผมยกตัวอย่างสักสองเรื่องเพื่อให้เห็นภาพชัดเจน (1) มีพ่อ ชวนลูกทั้งสอง ปั่นรถจักรยานสามคัน อย่างไว บนทางสำหรับวิ่งของคนออกกำลังกายที่มีพื้นที่แค่เมตรกว่าๆ และเป็นสวนสาธารณะ โดยไม่สนว่ากำลังทำผิด มองไม่เห็นอันตราย พฤติกรรมทำผิดของพ่อที่ส่งถ่ายไปยังวิธีคิดของลูกโดยไม่รู้ตัว ไม่ต่างกับการติดกระดุมเม็ดแรกที่ผิด ลูกจะมองว่าเป็นสิ่งที่ถูก มองพ่อเป็นแบบอย่าง เราก็คงทายได้ว่าพวกเขาจะเติบโตมาแบบไหน ส่วนตัวพ่อเองก็คงใช้เวลาที่เหลืออยู่กับการทำเรื่องผิดๆต่อไปโดยไม่รู้ตัว หรือมองไม่เห็นว่าผิด และสร้างปัญหาให้กับสังคมต่อไป และ (2) ณ ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ดันออกแบบลานจอดรถให้สามารถจอดรถได้หลายคัน โดยตีเส้นคั่นช่องจอดรถที่มีขนาดของช่องเท่ากัน ไม่รู้ว่ากำหนดขนาดของช่องจอดจากรถประเภทใด ไม่คำนึงถึงว่าขนาดรถในปัจจุบันมีขนาดใหญ่เล็กไม่เหมือนกัน และปรากฏว่า รถค้นแรกที่จอดมีขนาดใหญ่ หรือจอดไม่ตรงกลางของช่องจอด ก็เลยกินเนื้อที่มาอีกช่อง เลยเส้นที่ตีไว้ ทำให้รถที่เข้ามาจอดข้างๆต่อกัน ก็เลยต้องจอดชิดหรือเลยเส้นให้จอดต่อๆกันหลายคัน จนมีรถอีกคัน A มาจอดตรงพื้นที่กำหนดอย่างถูกต้อง แต่จะชิดคัน B ที่จอดชิดเส้นต่อกันมา ทำให้เจ้าของรถ B เปิดประตูเข้าไม่ได้ จึงมีอารมณ์โมโห และต่อว่าเจ้าของรถคัน A ว่าทำไมไม่จอดแบบเขา เพราะทุกคนต่างก็ทำ(ผิด)แบบนี้ต่อกันมา กลายเป็นว่าเจ้าของรถคัน A ผิด ความขัดแย้งนี้มีเหตุปัจจัยหลายอย่าง ที่เป็นตัวเริ่มต้น(ติดกระดุมเม็ดแรก) ให้เกิดปัญหาตามมา ไม่ว่าจะเป็นการทำเส้นแบ่งที่จอดเล็กไป,เจ้าของรถที่นำรถเข้าจอดชิดเส้นโดยไม่คำนึงถึงคนอื่นที่นำรถมาจอดต่อ,การใช้อารมณ์ แทนการพูดจาที่ดีต่อกัน....... ถ้าเป็นผม จะไม่จอดตามเขา คงต้องหาที่จอดใหม่ และหากคนดูแลโบกให้จอด ก็จะขอจอดเว้นระยะไป 1 ช่อง ด้วยเหตุผลว่า ไม่สามารถจอดได้ เพราะมันจอดกันผิดต่อกันมาตั้งแต่แรก และจะสร้างปัญหาปิดกั้นการเปิดเข้าออกของรถอีกคัน มันเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น บางครั้ง เราอาจไม่สามารถที่จะใช้เหตุผล กับ คนที่ไม่รู้ตัวว่าทำผิด โต้เถียงไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะคนพวกนี้มักใช้อารมณ์ในการแก้ไขปัญหา อาจยึดติดกับสิ่งที่เคยมีในอดีต หรือเป็นอยู่ในปัจจุบัน สังคมบ้านเรา ยังมีคนที่ไม่รู้ตัวและยอมรับที่จะมีพฤติกรรมที่ทำผิด ต่อจากคนที่ทำผิด และไปโทษคนที่ทำถูก ที่ไม่ยอมทำผิดแบบตน..... ดูแล้วเราต้องใช้ชีวิตอยู่ยากขึ้น ต้องทำบุญสร้างกุศลเยอะๆ เพื่อเป็นเกราะป้องกันตัวเอง ไม่ให้โคจรมาพบกับคนพวกนี้
เข้าใจว่า การติดกระดุมเม็ดแรก เป็นนัยยะที่บอกว่า การเริ่มต้นทำอะไรสักอย่าง ต้องคิดให้ดีก่อน ต้องวางแผน ดูผลกระทบ.. แต่เมื่อทำไปแล้ว ก่อนที่จะกลัดกระดุมเม็ดต่อไป ให้ทบทวน พิจารณาดูก่อนว่า กระดุมเม็ดแรกที่กลัดไปว่าถูกต้องไหม๊ ถ้ายังไม่ถูก ก็ให้ถอดออก แล้วกลัดใหม่ ความผิดพลาดอาจเกิดได้กับทุกคน จุดสำคัญคือ เราต้องรู้ตัวก่อนว่าผิดพลาด จึงจะสามารถแก้ไข ปรับให้ถูกต้องได้ แต่หากยังไม่รู้ว่าได้ทำผิดพลาดไป และยังทำผิดพลาดไปเรื่อยๆ จนเห็นเป็นเรื่องปกติ ชีวิตก็คงต้องใช้เวลาไปกับการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ และปัญหาก็จะอยู่กับการใช้ชีวิตของตัวเองตลอดไป จนยากจะแก้ไข นานเข้าปัญหาจะกลายเป็นเพื่อนสนิทที่คอยปิดหู ปิดตา ปิดใจ ให้บอดสนิท ไม่ให้ต้องรับรู้ รับฟัง หรือเข้าใจเห็นอกเห็นใจใคร ซึ่งไม่มีประโยชน์อันใดเลย กับการใช้ชีวิตที่มีโอกาสได้เกิดมา
" ทุกๆหลายก้าวที่เดินหน้า เราควรหยุดและทบทวนดู 'กระดุม' ของเราหรือของสังคมว่ากลัดถูกรูไหม๊
ถ้าไม่ก็อย่ารอช้า ปลด 'กระดุม' ทั้งหมดออกมาก่อน แล้วกลัดใหม่ " โดย วินทร์ เลียววาริน ( 2533 )
พ่อหมูตู้